สิ่งที่ผู้ป่วยหลังรับการผ่าตัดเปลี่ยน ลิ้นหัวใจเทียมควรทราบ

หลายสิ่งหลายอย่างที่ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมควรจะต้องทราบ ดังนี้

1 การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม แม้ว่าไม่ได้ทำให้คุณหายขาดจากโรคหัวใจ แต่คุณจะสบายขึ้น มีอายุยืนยาวขึ้น สามารถกลับไปทำงานได้
2 ลิ้นหัวใจเทียมเป็นสิ่งแปลกปลอม ร่างกายจะสร้างลิ่มเลือดเล็กๆเกาะที่ลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจเสีย ต้องผ่าตัดเปลี่ยนอีก และ ลิ่มเลือดเหล่านี้ทำให้เกิดอัมพาตได้ นอกจากนั้นลิ้นหัวใจเทียมยังติดเชื้อโรคง่ายกว่าลิ้นหัวใจปกติ
3 จำเป็นต้องรับประทานยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือด ชื่อ Coumadin หรือ Orfarin ไปตลอดฃีวิต
4 ยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดนี้ก็มีอันตราย เพราะทำให้เลือดแข็งตัวช้า เลือดออกง่าย และ มากผิดปกติ ในทุกๆส่วนของร่างกาย อาจถึงขั้นเสียฃีวิตได้
5 จำเป็นต้องพบแพทย์ และ ตรวจการแข็งตัวของเลือดเป็นระยะ เพื่อปรับยาให้เหมาะสม ห้ามปรับยาเอง กรุณาพบแพทย์ตามนัดเสมอเพื่อประโยชน์ของท่านเอง
6 ยานี้มีปฏิกริยาเมื่อใช้ร่วมกับยาอื่นๆหลายขนาน รวมทั้ง ยาแก้หวัด ต้านการอักเสบ ยาสมุนไพร อาหารเสริม ดังนั้นจึงไม่ควรซื้อยาต่างๆรับประทานเองโดยเด็ดขาด
7 ห้ามฉีดยาเข้ากล้าม ห้ามทำผ่าตัดใดๆ ห้ามทำฟัน ก่อนปรึกษาแพทย์โรคหัวใจที่ดูแล
8 หากมีเลือดออกผิดปกติ ให้หยุดยาและพบแพทย์ทันที
9 ควรหลีกเลี่ยงโอกาสเกิดอุบัติเหตุ หรือ งานที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ
10 ผู้ป่วยสตรีที่รับประทานยานี้อยู่ห้ามตั้งครรภ์เด็ดขาด โอกาสที่เด็กจะพิการ มีสูงมาก
11 ท่านควรมีบัตรที่แสดงว่ารับประทานยานี้อยู่ และ แจ้งแพทย์ที่ไม่ใช่แพทย์ประจำตัวท่าน ทุกครั้งว่ารับประทานยานี้อยู่
http://img197.imageshack.us/img197/6210/heart0558853975891393.jpghttp://img27.imageshack.us/img27/19/6025901965.jpg
จะ เห็นว่ายานี้มีอันตรายและข้อควรระวังมาก แต่ก็เป็นยาที่มีความจำเป็นต้องใช้ในผู้ที่ได้รับ ลิ้นหัวใจเทียมอย่างเลี่ยงไม่ได้ จึงควรทราบไว้เพื่อปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อตัว และหัวใจ ของท่านเอง

.

ยาอมใต้ลิ้น คืออะไร

หลายๆ คนคงเคยได้ยินมาว่า ในผู้ป่วยโรคหัวใจ ต้องมียาอมใต้ลิ้นพกติดตัวไว้เป็นประจำ และ หากมีอาการเกิดขึ้น อมยาไม่ทัน ก็ตายลูกเดียว หรือ ในทางกลับกัน การอมยาใต้ลิ้นทันท่วงที จะช่วยไม่ให้เสียชีวิต !! สื่อทางโทรทัศน์ วิทยุ (ดีเจ) ละคร รวมทั้งแพทย์ที่ไม่รู้อีกมาก ล้วนสร้างภาพให้ ยาอมใต้ลิ้น เป็นเสมือนยาวิเศษ ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่เลย ยาอมใต้ลิ้น มีประโยชน์ก็จริงอยู่ แต่ไม่ใช่ยาวิเศษ ใช้ผิดอาจตายได้ด้วยซ้ำ

ยาอมใต้ลิ้น ที่ผู้ป่วยโรคหัวใจใช้นั้น คือ ยากลุ่ม ไนเตรท (nitrate) อาจมีชื่อเรียกต่างๆกัน เช่น ไนโตร (nitro) หรือ ไอ ซอ ดิล (isordil) แล้วแต่บริษัทผู้ผลิต เราเรียกรวมๆกันว่ายาไนเตรท ที่ใช้อมใต้ลิ้นแทนการรับประทาน เนื่องจากบริเวณกระพุ้งแก้ม ในช่องปาก มีหลอดเลือดเล็กๆมากมาย เมื่อยาละลายจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็ว ยาจึงออกฤทธิ์ภายในเวลาไม่กี่นาที และ แน่นอนหมดฤทธิ์เร็วด้วย ยานี้มีส่วนช่วยขยายหลอดเลือดหัวใจได้ชั่วคราว แต่กลไกสำคัญคือ การลดเลือดไหลเวียนกลับสู่ร่างกาย เนื่องจากยาไปขยายหลอดเลือดทั้งดำและแดง ทำให้หัวใจทำงานลดลง จึงลดอาการเจ็บแน่นหน้าอกที่เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบได้ชั่วคราว ขอเน้นว่า เพียงแต่ ลดอาการช่วยคราวแต่การตีบตันที่รุนแรงนั้นยังคงมีอยู่ ไม่ได้หายไปด้วยยาอมใต้ลิ้นแต่อย่างใด! ต้องไปพบแพทย์อยู่ดี
http://img62.imageshack.us/img62/5012/133056739155682586.jpg
ยาจึงเหมาะในการช่วยบรรเทาอาการ “ชั่วคราว” ก่อนไปพบแพทย์ และสำหรับผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบเท่านั้น หากอาการดังกล่าวไม่ได้เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบการอมยาใต้ลิ้น อาจทำให้เกิดผลแทรกซ้อนร้ายแรงได้ ต้องระมัดระวังอย่างมาก ไม่ใช่แจกยาไปทั่วทั้งๆที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจ ....ด้วยความหวังดี จะกลายเป็นหวังร้าย

ยาอมใต้ลิ้นไม่ใช่ยาวิเศษ หากผู้ป่วยไม่ได้อมยาใต้ลิ้น ก็ไม่เสียชีวิต หากจะเสียชีวิตก็เสียชีวิตเพราะโรค ไม่ใช่เพราะไม่ได้ยาอมใต้ลิ้นแต่ประการใด หรือ อมยาใต้ลิ้นแล้ว ก็ไม่ได้รับประกันว่าจะไม่เสียชีวิตอีกเช่นกัน ยามีผลขยายหลอดเลือดรุนแรงทำให้ความดันโลหิตต่ำ หน้ามืด เป็นลม ปวดศีรษะ ในบางรายมีการตอบสนองผิดปกติ ที่เรียก autonomic dysfunction(vasovagal) ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นช้า เป็นลมหมดสติ.....

ประสบการณ์ผมมีคนไข้รายหนึ่งเป็นหมอ เพื่อนๆเป็นหมอด้วย ไปกินเลี้ยงกันสนุกสนาน หมอคนนี้บ่นแน่นๆหน้าอก เพื่อนๆหวังดี หยิบยาอมใต้ลิ้นมาให้กิน หนึ่งเม็ด สักพัก เอ..เห็นยังไม่หาย อมอีกเม็ดแล้วกัน... ไม่ทันไรเลยครับ หน้ามืด หน้าซีดเหงื่อออก ล้มลงจากเก้าอี้ เรียกไม่รู้ตัว เพื่อนๆที่เป็นคุณหมอจับชีพจรไม่ได้ (ไม่รู้จับนานแค่ไหน) เริ่มปั๊มหัวใจ...พาส่งรพ. ผมมาดู ซักประวัติได้ว่าผู้ป่วยรายนี้ ความดันโลหิตค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว แถมมีอาการหน้ามืดบ่อยๆ รับประทานยาหลายชนิดที่ลดความดันโลหิตอยู่อีกต่างหาก เมื่อโดนยาอมใต้ลิ้น เลยยิ่งแย่ เห็นไหมครับมากินเลี้ยงกันอยู่ดีๆ เกือบจะต้องไปงานศพ ไปเสียแล้ว แม้แต่หมอเองก็อย่าไว้ใจ....ไม่ใช่จะเก่งทุกเรื่อง

ยาอมใต้ลิ้น ไม่ใช่ยาวิเศษ ใช้บรรเทาอาการแน่นหน้าอกเฉพาะในคนที่เป็นโรคหัวใจเท่านั้น จำไว้ว่า ให้นั่งหรือ นอนอมยา อย่ายืน ความดันโลหิตจะต่ำลง ปวดศีรษะ เป็นลมได้ และ ห้ามใช้กับ ไวอกร้า รวมทั้งยาประเภทเดียวกันโดยเด็ดขาด กรุณาอย่าให้ยาแก่ผู้อื่นด้วยความหวังดี


.

กินน้ำมันปลาป้องกันโรคหัวใจ ได้จริงไหม?

กิน น้ำมันปลา Fish Oil ดีไหม

คำถาม ที่พบบ่อยมากเวลาบรรยายเรื่องโรคหัวใจให้ประชาชนฟัง คือ กินน้ำมันปลา หรือ Fish Oil ดีไหม และ ช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลไหม ความจริงแล้วน้ำมันปลา รวมทั้งการรับประทานปลา เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เนื่องจากเป็นไขมันชนิดดีตัวหนึ่ง และยังมีฤทธิ์ต้านเกร็ดเลือด ช่วยให้เลือดไม่หนืดไม่จับตัวเป็นลิ่มง่ายจนเกินไป น้ำมันปลา ไม่ช่วยลดไขมันโคเลสเตอรอล แต่ช่วยลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ แต่ในการลดระดับไตรกลีเซอไรด์นั้นจะต้องได้รับน้ำมันปลาอย่างน้อย 3-5 กรัม (3000-5000 มิลลิกรัม)ต่อวัน ควรเลือกใช้น้ำมันปลาที่มีความเข้มข้นของ EPA และ DHA ในขนาดสูง เช่น 1 กรัมต่อแคปซูล
http://www.vcharkarn.com/uploads/160/160659.jpghttp://www.omega-3-fish-benefits.com/444425a-i1_0.jpg
ส่วน คำถามที่ว่า กินน้ำมันปลา ดีไหม ช่วยป้องกันโรคหัวใจไหม ที่ผ่านมานั้นคำตอบยังไม่ชัดเจนนัก เดิมข้อมูลการศึกษาบอกว่า ผลดีของน้ำมันปลามีแน่ แต่ดีเฉพาะบางกลุ่ม เช่น เคยมีกล้ามเนื้อหัวใจตายมาก่อน เป็นต้น จึงไม่มีคำแนะนำให้ประชาชนทั่วไปที่แข็งแรงดีรับประทานน้ำมันปลา จนกระทั่งไม่กี่วันที่ผ่านมา มีรายงานผลการศึกษาที่รวบรวมเอาผลการศึกษาเกี่ยวกับ การให้น้ำมันปลาเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจทั้งหมด 4 การศึกษา ผู้เข้าการศึกษากว่า 4 หมื่นคน มาวิเคราะห์ ลงพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำของแพทย์โรคหัวใจ (JACC) พบว่าในผู้ที่ยังไม่มีโรคหัวใจมาก่อน น้ำมันปลาช่วยลดการเกิดปัญหาทางหลอดเลือดหัวใจลง 20 %

American Heart Association แนะนำว่า ในผู้ที่ยังไม่มีโรคหลอดเลือดหัวใจ ควรรับประทานปลาทะเลอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งเทียบเท่ากับน้ำมันปลา 500 มิลลิกรัมต่อวัน และในผู้ที่เป็นโรคหัวใจควรได้รับน้ำมันปลาอย่างน้อย 1000 มิลลิกรัมต่อวัน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคหัวใจควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานน้ำมันปลา ไม่ควรซื้อรับประทานเอง เนื่องจากบางรายอาจได้รับยาหัวใจอื่นๆร่วมด้วย อาจเกิดปฏิกริยากัน ทำให้เกิดผลแทรกซ้อนได้

สำหรับ คนรักสุขภาพ สามารถรับประทานน้ำมันปลาชนิดแคปซูลในขนาด 500-1000 มิลลิกรัม เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจได้อย่างปลอดภัย ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ควรจะต้องอ่านฉลากก่อนเสมอว่ามีส่วนผสม EPA+DHA เท่าไหร่ การรับประทานขนาดน้อยเกินไปอาจไม่ได้ประโยชน์

.

Popular Posts

  ©Template Blogger Green by Dicas Blogger.

TOPO