เราสามารถแบ่งหัวใจออกตามลักษณะ (กายวิภาค Anatomy of heart) และตามหน้าที่
(Function of heart )ได้ ดังนี้
เยื่อหุ้มหัวใจ (pericardium) เป็นเยื่อบางๆ ใสๆ ห่อหุ้มหัวใจไว้ เป็นสาเหตุของโรคบางชนิด เช่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ติดเชื้อ มะเร็งแพร่กระจาย มายังเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นต้น เยื่อหุ้มหัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญแต่ไม่จำเป็นถึงชีวิต ในกรณีที่เป็นโรค เราอาจทำการผ่าตัดเลาะ เยื่อหุ้มหัวใจทิ้งได้
หลอดเลือดหัวใจ จะอยู่บริเวณภายนอกหัวใจ (ที่มีเยื่อหุ้มหัวใจอยู่ ) ส่ง แขนงเล็กๆลงไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ หลอดเลือดหัวใจมีเส้นใหญ่ๆ อยู่ 2 เส้น คือ ขวา (right coronary artery) เลี้ยงหัวใจด้านขวา และซ้าย (left coronary artery) เลี้ยงหัวใจด้านซ้ายเป็นส่วนใหญ่ ด้านซ้ายจะแตกแขนงใหญ่ๆ 2 แขนง คือ left anterior descending artery และ left circumflex artery ซึ่งจะมีแขนงเล็กๆ อีกมากมาย โรคของหลอดเลือดหัวใจอาจเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการสะสมของไขมันที่ผนัง ทำให้หลอด เลือดหัวใจตีบและตันในที่สุด (ไม่ใช่มีก้อนไขมันในเลือดลอยไปอุดตัน ตามที่เข้าใจกัน)
กล้ามเนื้อหัวใจ เป็นส่วนที่ทำหน้าที่ในการบีบตัวไล่เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย และขยายตัวเพื่อรับเลือดกลับเข้าสู่หัวใจ จึงเป็นส่วนที่มี ความสำคัญอย่างมาก หากกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวหรือคลายตัวผิดปกติแล้ว ก็จะทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา ซึ่งส่วน มากอาจไม่สามารถแก้ไขให้กลับเป็นปกติได้ การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจต้องอาศัยพลังงานที่ได้จากสารอาหารที่ถูกนำมาโดย หลอดเลือดหัวใจ ดังนั้นโรคของหลอดเลือดหัวใจจึงมีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจ โดยตรง
ลิ้นหัวใจ และ ผนังกั้นห้องหัวใจ หัวใจคนเรามี 4 ห้องแบ่ง ซ้าย-ขวา โดยผนังของกล้ามเนื้อหัวใจ และแบ่งห้อง บน-ล่าง โดยลิ้นหัวใจ เลือดระหว่างห้องซ้าย-ขวาจึงไม่ปะปนกัน ในบางครั้งการสร้างผนังกันห้องหัวใจไม่สมบูรณ์ เกิดเป็นรูโหว่ขึ้นได้ เป็นชนิดหนึ่งของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจทำหน้าที่ให้เลือดไหลผ่านและไม่ไหลย้อนกลับ ดังนั้นหากลิ้นหัวใจผิดปกติ เช่น ตีบ ฉีกขาด ปิดไม่สนิท(รั่ว) ก็ย่อมทำให้เกิดโรคต่างๆขึ้น โรคลิ้นหัวใจที่เป็นปัญหามากที่สุดคือลิ้นหัวใจพิการรูมาห์ติค ซึ่งเป็นผล จากการติดเชื้อคออักเสบ
ภาพหัวใจแนวตัดจากบนลงล่าง
ระบบไฟฟ้าหัวใจ การที่หัวใจสามารถเต้นได้นั้น เนื่องจากหัวใจส่งกระแสไฟฟ้าที่สร้างขึ้นเอง จากหัวใจห้องขวาบนมายัง หัวใจห้อง ซ้ายบนและห้องล่าง เมื่อไฟฟ้าผ่านไปจะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดการบีบตัวไล่เลือด เลือดจึงไหลอย่างมีระเบียบ ดังนั้น หากระบบ ไฟฟ้าผิดปกติไป ไม่ว่าเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม ก็จะชักนำให้เกิดการเต้นที่ผิดจังหวะ ผิดปกติ ซึ่งบางครั้งรุนแรงมาก จนทำให้ เสียชีวิต
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ (Coronary Artery)
- เส้นทางการนำไฟฟ้าในหัวใจ
- ยาอมใต้ลิ้น
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
.