หลายๆ คนคงเคยได้ยินมาว่า ในผู้ป่วยโรคหัวใจ ต้องมียาอมใต้ลิ้นพกติดตัวไว้เป็นประจำ และ หากมีอาการเกิดขึ้น อมยาไม่ทัน ก็ตายลูกเดียว หรือ ในทางกลับกัน การอมยาใต้ลิ้นทันท่วงที จะช่วยไม่ให้เสียชีวิต !! สื่อทางโทรทัศน์ วิทยุ (ดีเจ) ละคร รวมทั้งแพทย์ที่ไม่รู้อีกมาก ล้วนสร้างภาพให้ ยาอมใต้ลิ้น เป็นเสมือนยาวิเศษ ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่เลย ยาอมใต้ลิ้น มีประโยชน์ก็จริงอยู่ แต่ไม่ใช่ยาวิเศษ ใช้ผิดอาจตายได้ด้วยซ้ำ
ยาอมใต้ลิ้น ที่ผู้ป่วยโรคหัวใจใช้นั้น คือ ยากลุ่ม ไนเตรท (nitrate) อาจมีชื่อเรียกต่างๆกัน เช่น ไนโตร (nitro) หรือ ไอ ซอ ดิล (isordil) แล้วแต่บริษัทผู้ผลิต เราเรียกรวมๆกันว่ายาไนเตรท ที่ใช้อมใต้ลิ้นแทนการรับประทาน เนื่องจากบริเวณกระพุ้งแก้ม ในช่องปาก มีหลอดเลือดเล็กๆมากมาย เมื่อยาละลายจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็ว ยาจึงออกฤทธิ์ภายในเวลาไม่กี่นาที และ แน่นอนหมดฤทธิ์เร็วด้วย ยานี้มีส่วนช่วยขยายหลอดเลือดหัวใจได้ชั่วคราว แต่กลไกสำคัญคือ การลดเลือดไหลเวียนกลับสู่ร่างกาย เนื่องจากยาไปขยายหลอดเลือดทั้งดำและแดง ทำให้หัวใจทำงานลดลง จึงลดอาการเจ็บแน่นหน้าอกที่เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบได้ชั่วคราว ขอเน้นว่า เพียงแต่ ลดอาการช่วยคราวแต่การตีบตันที่รุนแรงนั้นยังคงมีอยู่ ไม่ได้หายไปด้วยยาอมใต้ลิ้นแต่อย่างใด! ต้องไปพบแพทย์อยู่ดี
ยาจึงเหมาะในการช่วยบรรเทาอาการ “ชั่วคราว” ก่อนไปพบแพทย์ และสำหรับผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบเท่านั้น หากอาการดังกล่าวไม่ได้เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบการอมยาใต้ลิ้น อาจทำให้เกิดผลแทรกซ้อนร้ายแรงได้ ต้องระมัดระวังอย่างมาก ไม่ใช่แจกยาไปทั่วทั้งๆที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจ ....ด้วยความหวังดี จะกลายเป็นหวังร้าย
ยาอมใต้ลิ้นไม่ใช่ยาวิเศษ หากผู้ป่วยไม่ได้อมยาใต้ลิ้น ก็ไม่เสียชีวิต หากจะเสียชีวิตก็เสียชีวิตเพราะโรค ไม่ใช่เพราะไม่ได้ยาอมใต้ลิ้นแต่ประการใด หรือ อมยาใต้ลิ้นแล้ว ก็ไม่ได้รับประกันว่าจะไม่เสียชีวิตอีกเช่นกัน ยามีผลขยายหลอดเลือดรุนแรงทำให้ความดันโลหิตต่ำ หน้ามืด เป็นลม ปวดศีรษะ ในบางรายมีการตอบสนองผิดปกติ ที่เรียก autonomic dysfunction(vasovagal) ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นช้า เป็นลมหมดสติ.....
ประสบการณ์ผมมีคนไข้รายหนึ่งเป็นหมอ เพื่อนๆเป็นหมอด้วย ไปกินเลี้ยงกันสนุกสนาน หมอคนนี้บ่นแน่นๆหน้าอก เพื่อนๆหวังดี หยิบยาอมใต้ลิ้นมาให้กิน หนึ่งเม็ด สักพัก เอ..เห็นยังไม่หาย อมอีกเม็ดแล้วกัน... ไม่ทันไรเลยครับ หน้ามืด หน้าซีดเหงื่อออก ล้มลงจากเก้าอี้ เรียกไม่รู้ตัว เพื่อนๆที่เป็นคุณหมอจับชีพจรไม่ได้ (ไม่รู้จับนานแค่ไหน) เริ่มปั๊มหัวใจ...พาส่งรพ. ผมมาดู ซักประวัติได้ว่าผู้ป่วยรายนี้ ความดันโลหิตค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว แถมมีอาการหน้ามืดบ่อยๆ รับประทานยาหลายชนิดที่ลดความดันโลหิตอยู่อีกต่างหาก เมื่อโดนยาอมใต้ลิ้น เลยยิ่งแย่ เห็นไหมครับมากินเลี้ยงกันอยู่ดีๆ เกือบจะต้องไปงานศพ ไปเสียแล้ว แม้แต่หมอเองก็อย่าไว้ใจ....ไม่ใช่จะเก่งทุกเรื่อง
ยาอมใต้ลิ้น ไม่ใช่ยาวิเศษ ใช้บรรเทาอาการแน่นหน้าอกเฉพาะในคนที่เป็นโรคหัวใจเท่านั้น จำไว้ว่า ให้นั่งหรือ นอนอมยา อย่ายืน ความดันโลหิตจะต่ำลง ปวดศีรษะ เป็นลมได้ และ ห้ามใช้กับ ไวอกร้า รวมทั้งยาประเภทเดียวกันโดยเด็ดขาด กรุณาอย่าให้ยาแก่ผู้อื่นด้วยความหวังดี
.
Popular Posts
-
หัวใจของคนเราประกอบไปด้วย หัวใจห้องล่างสองห้องคือซ้ายและขวา( Left or Right Ventricle )และหัวใจห้องบนสองห้องคือขวาและซ้าย ( Left or Right Atr...
-
“โรคหัวใจ” เป็นคำที่กว้าง และฟังดูน่ากลัว แบ่งได้หลายชนิด ดังนี้ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด คือเป็นตั้งแต่เกิด อาจวินิจฉัยได้ตั้งแต่แรกคลอด หร...
-
ไข้รูมาติก/Rheumatic Fever พบในคนทุกวัย แต่จะพบมากในเด็กอายุ 5-15 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่ฐานะค่อนข้างยากจน หรือ อยู่กันอย่างแออัด...
-
ลิ้นหัวใจ คนเรามีทั้งหมด 4 ลิ้น ทำหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนของเลือดภายในหัวใจ จากหัวใจห้องบน ไปหัวใจห้องล่างและ ออกสู่เส้น เลือดเอออร์...
-
เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ เรียกว่า เส้นเลือดแดงโคโรนารี่ มีรูเปิดอยู่ที่บริเวณโคนของเส้นเลือดแดงเอออร์ตา แบ่งเป็น 2 เส้น คือ เส้น...